วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2552

บทคัดย่องานวิจัย : เรื่องการมีส่วนร่วมในการบริหารโครงการโรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านแสนเมืองมูล)

ชื่อเรื่อง การมีส่วนร่วมในการบริหารโครงการโรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านแสนเมืองมูล)
ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ผู้ศึกษา นางสาววรญา วิไลรัตน์
โรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านแสนเมืองมูล) เทศบาลนครลำปาง จังหวัดลำปาง
ปีการศึกษา 2552

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาระดับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการบริหารโครงการของโรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านแสนเมืองมูล) เทศบาลนครลำปาง และ 2) ศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการบริหารโครงการของโรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านแสนเมืองมูล) เทศบาลนครลำปาง
การศึกษาแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การสำรวจความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำการ เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างที่สุ่มอย่างเจาะจงจากกลุ่มพนักงานครูเทศบาลและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และสุ่มตัวอย่างอย่างง่ายด้วยการจับสลาก กับกลุ่มผู้ปกครองและนักเรียนช่วงชั้นที่ 1 – 2 รวม 193 คน ด้วยแบบสอบถาม และข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์สถิติพรรณนา และการวิเคราะห์เนื้อหาคำถามปลายเปิด และการสัมภาษณ์ ทำการเก็บรวบรวมด้วยแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างจากผู้ให้ข้อมูลหลักคือผู้บริหาร ผู้อำนวยสำนักงานการศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 1 ตัวแทนผู้ปกครองนักเรียนช่วงชั้นที่ 1 และ 2 และตัวแทนคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 6 คน นำข้อมูลที่ได้มาทำการแยกประเด็นและวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษาพบว่า
1. ระดับการมีส่วนร่วมบริหารโครงการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ
1.1 คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ปกครองมีส่วนร่วมในระดับ มีส่วนร่วมบ่อย และพนักงานครูและนักเรียนมีส่วนร่วมในระดับมีส่วนร่วมค่อนข้างบ่อยใน ขั้นค้นปัญหาและสาเหตุของปัญหา ขั้นร่วมปฏิบัติงานหรือร่วมกิจกรรมโครงการ และขั้นการติดตามและประเมินผล
1.2 คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครอง มีส่วนร่วมในระดับมีส่วนร่วมบ่อย และพนักงานครูมีส่วนร่วมในระดับค่อนข้างบ่อยในขั้นการวางแผนดำเนินกิจกรรม
1.3 ผู้ให้ข้อมูลหลักเห็นว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในขั้นค้นปัญหาและสาเหตุของปัญหาไม่ชัดเจน มีส่วนร่วมในขั้นการวางแผนดำเนินกิจกรรมในระดับน้อยครั้ง มีส่วนร่วมในขั้นร่วมปฏิบัติงานหรือร่วมกิจกรรมโครงการระดับค่อนข้างบ่อย และมีส่วนร่วมในขั้นการติดตามและประเมินผลในระดับบ่อยถึงมีส่วนร่วมน้อย
2. ปัญหาและอุปสรรคในการมีส่วนร่วมบริหารโครงการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ การติดต่อสื่อสารกับผู้ปกครอง งบประมาณไม่เพียงพอ การร่วมมือและการประสานการทำงานในโครงการ ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การไม่มีเวลาเข้าร่วมบริหารโครงการและไม่ตรงต่อเวลา พื้นที่การทำกิจกรรมโครงการของโรงเรียนคับแคบ ความพร้อมของนักเรียน การขาดความเข้าใจในการบริหารโครงการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และความตระหนักของผู้ปกครองที่มีต่อโครงการพัฒนาผู้เรียน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เชิญแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อพัฒนางานการศึกษาท้องถิ่นของเรา...
เกิดมาต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน